วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

betty blue สายลมที่หวังดี


ผมเขียนถึงหนังเรื่องนี้ในเช้าวันที่อุณหภูมิเมืองไทยร้อนอบอ้าว แต่จะถึง 37.2องศาเหมือนชื่อภาษาฝรั่งเศสของหนังเรื่องนี้หรือเปล่าก็บอกไม่ได้ แต่ร้อนอ่ะ

หลายอาทิตย์มาแล้วที่คิดถึงหนังเรื่องนี้  หนังภาษาต่างประเทศเรื่องแรกในชีวิตที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ตอนนั้นเป็นเด็กมัธยมขาสั้นที่ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ  และรู้จักหนังเรื่องนี้จากหนังสือเกี่ยวกับหนังชื่อ หนังและวิดีโอ  มีคุณสุทธากร สันติธวัชเป็นบก. ในหนังสือพูดถึงหนังเรื่องนี้ดีมาก แต่จำได้อย่างเดียวคือ ในนั้นเขียนว่า หนังเรื่องนี้มีฉากร่วมรักที่โจ่งแจ้งและมีไม่น้อย  ทำให้อยากหามาดู บอกกันตรงๆเลย คืออยากรู้ว่านอกจากความดีที่นักวิจารณ์พูดถึงแล้ว ฉากร่วมรักที่โจ่งแจ้งที่พูดถึงโดยไม่ใช่หนังโป๊มันจะออกมายังไง ดูจบ บอกได้ว่า นี่คือหนังรักในดวงใจ โดยไม่ต้องมีฉากร่วมรักโจ่งแจ้งก็ได้

Betty Blue หรือ 37.2 องศาตอนเช้า เป็นเรื่องราวของซอค์ก ชายหนุ่มที่ทำงานใช้แรงงานไปวันๆเพื่อมีเงินซื้อเหล้ากิน  จนวันหนึ่งชีวิตก็เปลี่ยนไปเมื่อ เบตตึ้ สาวที่เดิมเขาคิดว่าจะมีสัมพันธ์ลึกซึ้งแบบเบ็ดเสร็จคืนเดียวแล้วแยกทางเหมือนสาวคนอื่น เดินเข้ามาในชีวิต  เบตตี้ไม่เหมือนกับสาวคนอื่นๆ  ทำให้ทั้งคู่หลงรักกันและร่วมรักกันแบบไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ ฉากแรกของหนังเปิดเรื่องมาก็อี๊อ๊ากันแล้ว เห็นกันโจ่งแจ้งไม่มีปิดบังหรือมุมกล้องช่วย ไม่มีอุปกรณ์ใดๆบัง เห็นจะๆ  ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะรูปร่างที่ยั่วยวนชวนหลงใหลของเบตตี้นั้นช่างงดงามและสมส่วน เปรียบได้กับนางในฝันจากหนังสือกระตุ้นอารมณ์หลุดออกมาและมีชีวิตจริงๆ  แต่ไม่กี่นาทีต่อจากฉากร่วมรักเปิดเรื่อง เราก็ได้รับรู้ว่าชีวิตของเบตตี้ก็คล้ายกับนกที่ต้องการไม้ใหญ่ไว้พักพิง เธอต้องการใครสักคนที่เติมเต็มความอบอุ่น ใครก็ได้ที่ไม่มองเธอแค่รูปร่างยั่วยวนของเธอ รักเธอมากกว่าแค่ได้ร่วมรักกัน ซอค์กคือผู้ชายคนนั้น

เมื่อนกน้อยที่ต้องการไม้ใหญ่ไว้พึ่งพิงได้เจอกับไม้ใหญ่ที่ตามหา  และไม้ใหญ่ที่ยืนต้นรอวันตาย ได้รับความสดชื่นของเม็ดฝนที่รินหลั่งจากท้องฟ้า  มันจึงเป็นความลงตัวอย่างที่สุด  เบตตี้ย้ายเข้ามาอยู่กับซอค์กที่บ้านริมทะเล  ชีวิตของทั้งคู่คงไม่มีอะไรต่อจากนี้นอกจาก(ร่วม)รักกันไปจนวันตาย  ถ้าวันหนึ่ง เบตตี้ไม่ระเบิดอารมณ์เมื่อรู้ว่าซอค์กยอมเป็นเบี้ยล่างให้กับเจ้าของรีสอร์ทที่ให้บ้านอยู่เพื่อใช้เขาทำทุกอย่าง  ทุกอย่างที่หมายถึงการทาสีบ้านใหม่เกือบ 50 หลัง เธอโกรธ รื้อข้าวของเครื่องใช้กระจายทั่วบ้าน  ยกเว้นของในกล่องๆหนึ่งที่ซอค์กเก็บไว้อย่างลืม  มันคือ นิยายที่เขาเขียนไว้นานแล้ว  บางทีอาจจะนานจนเป็นแค่ฝันที่เก็บยัดลงกล่อง ซอค์ก คงคิดว่า สิ่งที่เขาทำมันไม่มีทางเป็นจริงขึ้นมาได้ เขาไม่ใช่นักเขียนเป็นเพียงคนขายแรงงานมีชีวิตอยู่กับกลิ่นเหงื่อและส่าเหล้าไปวันๆ หลายครั้งหลายหนที่คนเรายอมนั่งทับความฝันของตัวเอง ปล่อยให้ความจริงกัดกร่อนความฝัน เหมือนต้นไม้ที่โตแต่ต้น แต่ข้างในกลวงโบ๋ ความฝันแม้ไม่ใช่อาหารบำรุง แต่ก็คือน้ำหล่อเลี้ยงให้ไม้นั้นติบโต     แต่เบตตี้กลับตรงข้าม
เมื่อเปิดอ่าน เธออ่านจนถึงเช้า ก่อนจะพบว่า นี่คือผลงานที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของซอค์ก ชายที่มีดีเกินกว่าที่เจ้าตัวจะรู้ เบตตี้ต่างจากซอค์ก เชื่อในสิ่งที่ตัวเองฝัน เธอมีความหวังงว่าจะได้เจอผู้ชายที่เห็นคุณค่าภายในมากกว่าเรือนร่างภายนอก แม้จะถูกลวนลามทางคำพูด,สายตาและฝ่ามือกี่ครั้ง เธอยังคงเชื่อมั่นและเฝ้ารอการได้เจอชายคนนั้น จนมาเจอซอค์ก จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมือเธอมองเห็นทองที่ถูกซุกซ่อนในผ้าขี้ริ้ว เธอพยายามอย่างดึงผ้าขี้ริ้วนั้นออก ทำให้ทองได้เปล่งประกายของมัน เบตตี้โน้มน้าวให้ซอค์กมั่นใจในผลงานเขียนของตัวเองอีกครั้ง กลับมาเชื่อมั่นในความฝันอีกครั้ง  แต่ซอค์กกลับบ่ายเบี่ยง หรือบางทีเขาเดินผ่านเส้นทางความจริงที่ทำลายความฝันของเขาจนหมดสิ้นแล้วก็ได้ ไม่คิดว่าสิ่งที่เธอคิดจะทำให้เป็นจริงได้อีกครั้ง

ในฉบับที่หยิบมาดูตามหลังเขาอีกครั้ง ต่างจากครั้งแรกที่ดูมาก ฉบับนี้เป็นแบบ director cut มีการเพิ่มเรื่องราวความสัมพันธ์และชีวิตรักของทั้งคู่ออกไปเยอะมาก ซึ่งได้ความเต็มอิ่มในบางสิ่งที่ขาดหายไปได้เห็นความรักของซอค์กที่ให้กับเบตตี้มากขึ้น (และฉากโจ่งแจ้งด้วย) แม้ปลายทางของเรื่องจะจบลงแบบเดียวกัน  แต่กลับชอบฉบับแรกที่ดู มันประทับใจกว่า บีบคั้นอารมณ์กว่า สะเทือนใจกว่า อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดเรื่องเวลาในการฉาย version หลังนี้ลงแผ่นเลย จึงเพิ่มเติมเรื่องได้มากขึ้น

หลังจากเบตตี้รู้ถึงศักยภาพที่ซ่อนในตัวซอค์ก เธอก็ทำทุกวิถีทางที่จะให้งานของเขาได้รับการตีพิมพ์ เธอลงมือพิมพ์ต้นแบบทั้งที่พิมพ์ไม่เป็น พิมพ์เป็นสิบๆ ต้นฉบับเพื่อส่งให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ จากวันเป็นอาทิตย์ จากอาทิตย์เป็นเดือน ไม่มีการตอบรับ อารมณ์โกรธของเบตตี้เริ่มสะสมขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์คือการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ที่เหมือนน้ำในกายามเดือดได้ ยิ่งปล่อยไว้ น้ำในกาก็จะเดือดจนพลุ่งทะลักออกจากกา นั่นหมายถึงการลวกใส่คนที่ถืออยู่ เบตตี้ก็เฉกเช่นนำในกาใบนั้น  เมื่อซอค์กหยิบจดหมายตอบปฏิเสธมาอ่าน เบตตี้ตามไปบ้านของเจ้าของสำนักพิมพ์ ด่าว่าอย่างรุนแรง ก่อนฝากรอยแผลเล็กๆไว้บนใบหน้าของเจ้าของสำนักพิมพ์ เจ้าของสำนักพิมพ์แจ้งข้อหาทำร้ายร่างกาย ซอค์กต้องตามไปเคลียร์

จากนั้นมา  จากเพียงสายลมที่ผ่านมาปัดเป่าความแห้งแล้งในชีวิตของซอค์ก สายลมลูกนี้เริ่มก่อร่างกลายเป็นพายุร้าย  พร้อมเข้าโถมทำลายทุกอย่าง  เพื่อให้ผลงานของชายที่เธอรักได้ตีพิมพ์
และเมื่อรวมเข้ากับการได้รับรู้ว่า เธอแท้งลูก พายุลูกนี้ยิ่งเพิ่มพลานุภาพของมันโดยไม่อาจมีใครต้านทาน  จนสุดท้ายต้องเข้ารับการบำบัด 

ความรักอาจเคยเป็นเครื่องมือในการเยียวยาความเจ็บปวด ความผิดหวัง ทั้งหลายทั้งปวง ถึงตอนนี้ใช้ไม่ได้กับเบตตี้  บัดนี้สูญเสียการควบคุมตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว คนเดียวที่จะยุติทุกอย่างก่อนพายุลูกนี้จะทำลายชีวิตตัวเธอเองและคนรอบข้างก็คือ ซอค์ก แม้จะเจ็บปวดแต่เขาก็ตัดสินใจที่หยุดมัน

ฉากซอค์กตัดสินใจยุติทุกอย่างนี้  เป็นฉากสะเทือนใจแบบสุดๆ  ไม่เพียงหมายถึงการหยุดชีวิตคนที่เขารักและมีความหมายที่สุดในชีวิต แต่หมายถึงการหยุดความฝันที่เขามีมาลงด้วยเช่นกัน เบตตี้เปรียบได้กับความหวังเดียวที่กลับมาหล่อเลี้ยงให้เขามีกำลังในการก้าวเดินต่อว่าเขาเป็นนักเขียนได้ หลังจากที่โยนมันทิ้งไปเมื่อนานมา  ด้วยหมอนใบเดียวทุกอย่างจบ

หลังพายุแห่งความหวังดีผ่านไปไม่นาน ซอค์กได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์เล็กๆแห่งหนึ่งว่าสนใจที่จะพิมพ์งานของเขา  พร้อมกับงานเขียนเรื่องต่อไป  คิดว่าเขาอยากเขียนเรื่องไหนที่สุด
.  ..............................................................................................................................

ชีวิตบางครั้งก็ต้องการสายลมพัดหนุนให้เราไปถึงจุดหมาย ถ้าไม่มีลมพัดพาไป  ชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับเศษฝุ่นที่ถูกลืมถมทับหนาขึ้นทุกวัน ก่อนจะถูกเช็ดทิ้ง หายไปในที่สุด

................................................................................................................................

ปล. ดูจบฉบับเวอร์ชั่นแรก ยอมรับว่า ร้องไห้ เข้าใจในสิ่งเบตตี้และซอค์กทำ ไม่มีคำตอบว่า ใครควรหรือไม่ควรทำในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด  สำหรับการดูเวอร์ชั่น director cut พบว่านอกจากจะเอมใจกับเรือนร่างของบริทริซ ดัลล์และ score ของ  เกเบียล ยาเรดแบบเต็มอิ่มแล้ว ยังพบว่าหลายฉากในหนังเรื่องนี้เป็นต้นฉบับในการหยิบยืมและลอกเลียนให้กับหนังหลายๆเรื่องต่อมา อันหนึ่งที่แน่ๆคือใบปิดหนังเรื่องนี้คือภาพหน้าปกเทปอัลบั้มหนึ่งของพี่อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง ชุดไหนไปหาดูเอง

............................................................................................................................................................



วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จากบทเพลงหนึ่งเดียวคนนี้


โจ ไรต์ เป็นผู้กำกับหนังที่ต้องบอกว่าหนังของเขาจัดอยูหมวด "ถ้าใจพร้อม กายไม่พร้อม มีสิทธิ์เข้าสู่โหมด Stand By หรือ บางคนอาจก้าวไปสู่หมด Shut Down ตั้งแต่กลางเรื่อง" ไม่ใช่ว่าหนังน่าเบื่อ หรือห่วยแตก ตรงข้ามเป็นหนังที่จัดในขั้น"ดี" เรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Pride & prejudice ,Atonement (เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สำคัญหลายสาขา แม้จะพลาด ทว่า มันเป็นหนังดี) จนมาถึงเรื่องนี้ Soloist

Soloist  ดัดแปลงสร้างจากหนังสือของสตีฟ โลเปซ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ชื่อดังที่เขียนจากเรื่องจริงของมิตรภาพระหว่างตัวเขากับนักดนตรีข้างถนนที่ฝีมือการเล่นดนตรีขั้นเทพ ทว่ามีปัญหาด้านอารมณ์ นาธานเนี่ยล เอเยอร์  ซึ่งในหนังนักแสดงที่มารับบทสตีฟ โลเปซคือ โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์ บทนักดนตรีข้างถนนเป็นของ เจมี ฟ็อกซ์ ขอบอกว่าเป็นการเลือกนักแสดงที่เหมาะมาก ทั้งคู่ให้การแสดงที่พอเหมาะพอดี ไม่เค้นอารมณ์เกิน  แค่ดูการแสดงของ 2 คนนี้ก็เพลินแล้ว ฉากระเบิดอารมณ์ในช่วงท้ายเรื่องที่ฟ็อกซ์แสดง ขอยกว่า เนียน

ตลอดทั้งเรื่อง ดูว่าบทของนักดนตรีข้างถนนของเจมี่ ฟ็อกซ์ จะมีสีสันกว่าบทนิ่งๆของ
โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์ เอาเข้าจริงแล้ว บทนี้เป็นบทมีสีสันไม่แพ้กัน แต่เป็นสีสันที่อยู่ข้างใน ใช้การแสดงที่เรียกว่า น้อยแต่มาก  ถ้าได้นักแสดงที่ไม่เข้าใจ แสดงไม่ถึง จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครตัวนี้ จะทำให้หนังดูชืดสนิท ศิษย์ส่ายหน้ากันเลยทีเดียว  เรียกว่า เป็นการแสดงที่ไม่มีใครเด่นกว่าใคร

ด้วยเนื้อหา"มิตรภาพระหว่างความแตกต่างระหว่างคน ๒ คน"ที่เคยถูกพูดถึงในหนังหลายๆเรื่อง ทำให้ระหว่างดูพบว่า  สิ่งที่ค้ำจุน"อัจฉริยะหรือวีรบุรษ" ก็คือ"มิตรภาพ" โฟรโดแห่ง LOTR ไม่มีทางทำลายแหวนสำเร็จถ้าไม่รับการแบกของแซม,มนุษย์ค้างคาวอาจล้มไม่ลุก ถ้าไม่ได้คำปลุกใจจากพ่อบ้านอัลเฟรด หรือ แฮรี่ อาจต้องพ่ายต่อคนที่คุณก็รู้ว่าใคร ถ้าไม่มี ๒เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ รอนและเฮอร์ไมโมนี่

การเล่าเรื่องที่เป็นลายเซ็นของผู้กำกับคนนี้คือ การเล่าเรื่องแบบเรียงลำดับ ไม่มีหักมุม ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน  ทำให้หลายคนระหว่างดูอาจปรับสู่โหมด Stand By แต่ ถ้าใคร Play (ดูต่อ) ไม่กด Fast Faward (ไปอย่างเร็ว) หรือ Select Scence (เลือกฉาก) ดูจนจบ ล้วนต่างชอบหนังของผกก.คนนี้ทั้งนั้น ภายใต้การเล่าเรื่อยๆ สิ่งที่แฝงมาคือความเข้มข้นของการแสดง  บางฉากจากบางเรื่องนี้ถึงขั้น "หนักหน่วง" ชวนติดตาม หนังที่ผ่านมาของผกก.คนนี้มักพูดถึง ตัวละครที่ไม่ยอมอยู่ในกรอบของสังคม  มีวิธีคิดที่ไม่ยึดติดกับวิถีของคนส่วนใหญ่  เป็นแบบนี้เรืองจึงเข้มข้น นักแสดงต้องทำการบ้านมาเต็มที่ จะมานั่งนึกหน้ากอง ไม่ได้แน่  จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อไรที่ดูหนังของโจ ไรต์ จะเห็นบางสิ่งบางอย่างที่แฝงมา  ดูกี่ครั้งก็จะเห็นต่างกันไปในแต่ละครั้ง  เรื่องนี้ก็เช่นกัน

เสน่ห์อีกอันหนึ่งในหนังของผกก.โจ ไรต์นอกจากการไม่ยอมอยู่ใต้กฎของสังคมของตัวละครก็คือ การต้องเลือกระหว่าง มืด กับ สว่าง ในAtonement นี้ชัด ในsoloist แม้จะไม่ชัด แต่มีให้เห็น เมื่อถึงจุดที่สามารถเปลี่ยนแปลงมิตรภาพของโลเปซกับนาธานเนี่ยล ใครจะแบกรับอารมณ์ที่เปราะบางได้ทุกครั้ง ทุกเวลา 

มี ๒ ฉากที่ดูแล้วชอบคือ ฉากนาธานเนี่ยลสีเชลโล่ให้สตีฟฟัง กับฉากสุดท้ายที่นาธานเนี่ยล ยื่นมือให้สตีฟพร้อมกับพูดว่า"ขอบคุณที่ยอมรับผมเป็นเพื่อน" ฉากนี้ดูแล้วนึกถึงคำพูด"เพื่อเพื่อนน้อยกว่านี้ได้ไง"ชะมัด

เมื่อไรก็ตามที่รู้สึก"ความเป็นเพื่อน"มาถึงจุดเปราะบาง  ไม่ต้องทำอะไร "เข้าใจ"เพื่อนให้มาก อย่าขีดเส้นให้เขาเดิน อย่าบังคับให้เขาทำ  ยอมรับในสิ่งที่เพื่อนเป็น เห็น(ใจ)ในสิ่งที่เพื่อนทำ แล้วจะพบว่า คุณค่าของน้ำมิตรอยู่ตรงไหน