วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Persuit of Happyness... ขออย่ายอมแพ้




ปลายปี๒๕๕๑ ทั่วโลกต้องเจอ มรสุมความล้มสลายของภาวะเศรษฐกิจ หลายประเทศสถาบันการเงินเข้าขั้นตรีทูต   รัฐบาลต้องเข้าไปพยุงค้ำเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศรอดเดินต่อไปได้  ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นมรสุมลูกนี้  แต่หนักหน่อยตรงลูกแถม พายุโซน(ใจ)ร้อนสีแดง ที่มาในรูปไข่ไก่สีนวล  คงต้องตามดูกันต่อว่า หลังมรสุมลูกใหญ่ และพายุแถมลูกนี้ผ่านไป  ประเทศไทยจะเหลืออะไรไว้บ้าง  ว่าแล้วหยิบหนังมาดูตามหลังเขาเรื่องนี้ดีกว่า

Persuit of Happyness ดัดแปลงสร้างจากชีวิตจริงของนายคริส การ์ดเนอร์ อดีตเซลล์แมนตกงานที่ตอนหลังกลายเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่โต  หนังได้นักแสดงผิวสีตลกคนดัง วิล  สมิธ  ที่ช่วงหลังรับงานแสดงประเภทต้องใช้อารมณ์หนักๆเข้มข้นเยอะขึ้น   ทำให้เห็นศักยภาพด้านการแสดงของหนุ่มวิลว่า เป็น คนมีของ มารับบทคริส  การ์ดเนอร์ในเรื่อง   ซึ่งหนุ่มวิลก็มอบการแสดงที่ควรค่าแก่การจดจำของการเป็นนักแสดงฝีมือ ไว้อีกครั้งหนึ่ง  ยอมลงทุนทำโทรมทุกอย่าง  ทำแล้วน่าเชื่อเสียด้วย  แม้ไม่เต็มร้อย  แต่อยู่ในขั้น 70 – 80% เรื่องจัดอยู่ในข่าย จากไอ้ขี้แพ้มาเป็นผู้ชนะในตอนท้าย  แต่การเป็นผู้แพ้ในเรื่องนี้  ถ้าคนใจไม่สู้  อาจถอดใจไปแล้ว  อะไรมันจะบั่นทอน  โหดร้ายต่อจากมีชีวิตขนาดนี้  สำนวนไทยที่บอกว่า ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นั้นเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ต่างๆที่โถมเข้ามาในชีวิตของคริส  การ์ดเนอร์  นอกจากไม่ได้เดินบนกลีบกุหลาบ  ยังต้องเดินบนยางมะตอยร้อนๆที่ตีนแทบไหม้ (ขอใช้คำนี้แล้วกัน) อนาคตไม่ต้องถาม  ปัจจุบันหืดไม่จับแค่คอ แต่เข้าไปจับถึงขั้วหัวใจ  ครอบครัวง่อนแง่นเมียขอเลิกแทบทุกวัน  งานที่ทำก็แทบไม่รอด  เพราะสิ่งที่แกขายมันเป็นของที่outไปจากยุคสมัยนั้นแล้ว  ลูกไม่ได้เรียนหนังสือต้องเอาไปฝากไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก  ซึ่งเงินก็ไม่พอจ่ายค่าเลี้ยงดู  บ้านกำลังจะถูกไล่  ชีวิตสาหัสแบบนี้ถึงบอกว่าถ้าใจไม่สู้  ถอดใจโดดตึก  ยิงตัวตายไปนานแล้ว  แต่คริส  การ์ดเนอร์ไม่ใช่คนแบบนั้น  เขาไม่ยอมแพ้  ต้องมีสักวันที่ขายได้  ส่วนจะมีวันนั้นไหม  หาหนังเรื่องนี้มาดูเอง  ในระหว่างที่เป็นเซลล์ขายของ  วันหนึ่งได้เจอกับชายหนุ่มเจ้าของรถคันงาม จึงเข้าไปถามว่า รถคันนี้เจ้าได้แต่ใดมา  คำตอบทำให้ คริส เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  เขาสมัครเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบเป็นตัวแทนขายหุ้น  อายุขนาดเขาเข้าห้องเรียนเรียกว่าเป็น ไอ้โข่ง ได้เต็มปาก  แต่คริสไม่สนใจ  เขามุ่งมั่นว่าสักวันชีวิตจะต้องดีขึ้น
มีฉากเรียกอารมณ์แบบ
เอาอยู่  2 – 3  ฉาก  ฉากแรกดูแล้วเหมือนมี ก้อนอะไร บางอย่าง ขึ้นมาจุกที่คอ  ฉากคริสต้องจูงลูกหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้า และเจ้าเครื่องตัวสุดท้ายไปนอนในห้องน้ำของสถานีรถไฟ  ห้องน้ำสถานีรถไฟบ้านเขาแม้ไม่เอ้อ...เหมือนบ้านเรา  แต่ไม่ต่างกันเท่าไร  คริสต้องนอนในนั้น  ซึ่งทีมงานยกไปถ่ายในห้องน้ำกันจริงๆไม่เซ็ต  หนุ่มวิลก็นอนจริงๆ  ลองคิดดูว่าการที่พ่อคนหนึ่งต้องหิ้วลูกไปนอนในห้องน้ำที่แสน..อึ๊ย นั้น มันเจ็บปวดแค่ไหน  พ่อทุกคนอยากให้ลูกสบายและไม่อายทั้งนั้น  อีกฉากที่คริสเล่านิทานให้ลูกฟัง พระเจ้าจอร์จ ฟังแล้วขนลุก  คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็แบบนี้แหละ  แม้ต้องตายและอายแค่ไหน  ลูกต้องมีความสุข  ตัวเอกในนิทานจบลงอย่างมีความสุข  ขณะที่ชีวิตจริงคนละม้วน
มาถึงฉากที่
ก้อนอะไรไม่รู้ทำให้ต่อมน้ำตาปล่อยหยาดน้ำตาใสร่วงลงมาคือ ฉากที่คริสเดินเข้าไปรับคำตอบจากบริษัทเงินทุนแห่งหนึ่ง  ดนตรีไม่โหมประโคมเร้าอารมณ์ ไม่มีอะไรเลย  มีเพียงคริส เดินเข้าไปเงียบๆ รอฟังคำตอบ  นี่คือแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่ไม่รู้ว่าเป็นแสงหลอกหรือแสงจริง  วิล สมิธให้การแสดงที่ดูแล้ว  เชื่อว่านี่คือคนที่รอความหวังจริงๆ เมื่อรู้คำตอบก็ไม่ฟูมฟาย  ลุกขึ้นจับมือแล้วเดินออก  แค่นี้จริงๆ   เป็นฉากให้กำลังใจคนได้ดีอย่างมหัศจรรย์  ชีวิตเป็นแบบนี้แหละ ใครจะมีดนตรีมาโหมประโคม 


ใครกำลังท้อแท้  ถอดใจ  หาทางออกไม่เจอ  อยากยอมแพ้  แนะนำให้หาหนังเรื่องนี้มาดู  ไม่มีอะไรทำให้คนเรายอมแพ้ได้  นอกจากใจเราเอง  เหมือนที่ป๋าอมตะแห่งโลกวรรณกรรมอเมริกา ปาป้าเออร์เนส  เฮมมิ่งเวย์บอกว่า มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะแพ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น